งานสัมมนา “เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน”

งานสัมมนา “เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน”

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ส.ค. 2566

| 468 view

งานสัมมนา “เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญาตาม
มาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐
และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน”

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “ย้อนอดีต แลอนาคต:ถอดบทเรียนจากสนธิสัญญาไมตรีสำหรับการต่างประเทศของไทย” ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการประเมินคุณค่าเอกสารประวัติศาสตร์ ด้านกฎหมายระหว่างประเทศของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไปซึ่งทำให้ค้นพบเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ จากอดีตเพื่อเชื่อมโยงสู่ปัจจุบันรวมทั้งยังเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินแนวนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งปัจจุบันและอนาคตได้
โดยหนึ่งในเอกสารอันมีค่านั้นคือ “เอกสารเกี่ยวกับการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาไมตรี การพาณิชย์และการเดินเรือ” ที่ทำให้ทราบถึงแนวปฏิบัติการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาและการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับต่างประเทศในอดีต โดยสามารถนำมาถอดบทเรียนในการกำหนดทิศทางการต่างประเทศของไทย

งานเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่าง ๆถึงสี่ท่านเข้าร่วมถอดบทเรียนจากสนธิสัญญาไมตรีฯ
โดยวิทยากรท่านแรก คือ รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จากการทำสนธิสัญญาไมตรีฯกับประเทศมหาอำนาจตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่นำมาซึ่งความเจริญของประเทศ อาทิ สยามได้พัฒนาเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าเพื่อรองรับการทำการค้ากับประเทศมหาอำนาจตะวันตก

วิทยากรท่านที่สอง ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศได้แสดงทรรศนะว่าการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตโดยมีบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย การกำหนดทิศทางการต่างประเทศของไทยในปัจจุบันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับบริบทของการแข่งขันดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้ซึ่งจุดยืนของประเทศเราเองและมีความเข้าใจว่าประเทศมหาอำนาจประสงค์สิ่งใดจากประเทศไทยและจุดยืนของไทยสอดคล้องหรือไม่แล้วควรมีการปรับตัวเช่นไรรวมทั้งควรมีการบูรณาการท่าทีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วิทยากรท่านที่สาม นางสาวภาพิศุทธิ์ สายจำปา นักจดหมายเหตุวิชาชีพ ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความสำคัญของเอกสารประวัติศาสตร์ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในฐานะที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กรรวมทั้งการวางแผนกำหนดนโยบายการต่างประเทศและเป็นหลักฐานทางกฎหมายในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชน

วิทยากรท่านสุดท้าย ดร. สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ถอดบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาไมตรีที่สยามทำกับประเทศมหาอำนาจในอดีตไว้ ๓ ข้อ บทเรียนข้อแรก คือ ทำให้ทราบบทบาทหน้าที่ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในการร่วมเจรจาจัดทำสนธิสัญญาและการเป็นฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการพิจารณาจัดทำสนธิสัญญาต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมให้มุมมองหลากหลายด้านรวมถึงบทบาทการเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี บทเรียนบทที่สอง คือ วิวัฒนาการเนื้อหาที่สำคัญของสนธิสัญญาไมตรีฯ ที่ตกทอดเป็นหลักกฎหมายการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ หลักการปฎิบัติต่างตอบแทนหลักการปฎิบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง หลักการปฎิบัติเสมือนคนชาติ เป็นต้น
บทเรียนบทที่สาม คือ แนวปฏิบัติการจัดทำสนธิสัญญาในอดีตจนถึงปัจจุบันอาทิ ภาษาที่ใช้ในการทำสนธิสัญญาโดย ดร. สุพรรณวษาฯ ชี้ให้เห็นว่าสนธิสัญญาในอดีตบางฉบับจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลาง ในขณะที่การทำสนธิสัญญาในปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง

นอกจากนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายยังได้รับความอนุเคราะห์จากกองบรรณสารและห้องสมุดในการนำต้นฉบับสนธิสัญญาไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือที่สยามทำกับประเทศมหาอำนาจในอดีตมาจัดแสดงนิทรรศการที่บริเวณหน้าห้องนราธิปเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาฯได้ชมต้นฉบับเอกสารประวัติศาสตร์อันมีคุณค่ายิ่งเหล่านั้นด้วย

                                                                                                   * * * * *