การร่วมพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการ ๖

การร่วมพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการ ๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2566

| 8,582 view

ภารกิจอื่น/การร่วมพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการ ๖

บทบาทของกรมสนธิสัญญาเเละกฎหมายในการร่วมพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่เเห่งสหประชาชาติเเละคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย)

S__23986358

 

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) เป็นหนึ่งในหกองค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดขององค์การสหประชาชาติจำนวน ๑๙๓ ประเทศ มีอำนาจหน้าที่ในการอภิปรายประเด็นปัญหาต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎบัตรสหประชาชาติ และทำคำแนะนำไปยังสมาชิกขององค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งในเรื่องการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การลดอาวุธ กรณีพิพาทระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และสนับสนุนพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ (progressive development of international law) และการประมวลกฎหมาย (codification) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย รวมถึงช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังดูแลเรื่องงบประมาณและการบริหารองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการประชุมสมัยสามัญของ UNGA จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป

 

เนื่องจากภารกิจที่มีความหลากหลาย UNGA จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการหลักขึ้น ๖ คณะ รับผิดชอบประเด็นที่แตกต่างกัน ดังนี้

คณะกรรมการ ๑ - การลดอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ

คณะกรรมการ ๒ - เศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนา 

คณะกรรมการ ๓ - สังคม สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรมและวัฒนธรรม

คณะกรรมการ ๔ - การเมืองพิเศษและการปลดปล่อยอาณานิคม

คณะกรรมการ ๕ – การบริหารจัดการและงบประมาณ

คณะกรรมการ ๖ – กฎหมาย

 

คณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนรัฐสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมอภิปรายและหารือในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจของรัฐสมาชิก คณะกรรมการ ๖ จะจัดการประชุมประจำปีในห้วงระหว่างต้นเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี

ประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีการหารือในการประชุมคณะกรรมการ ๖ มีทั้งประเด็นที่หารือต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี อาทิ มาตรการเพื่อขจัดการก่อการร้ายสากล หลักนิติธรรม ขอบเขตและการบังคับใช้หลักเขตอำนาจสากล โครงการช่วยเหลือในการเรียน การสอน การเผยแพร่และการเพิ่มพูนความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ และประเด็นที่มีการหารือทุก ๆ ๒ หรือ ๓ ปี อาทิ การคุ้มครองบุคคลในกรณีภัยพิบัติ การขับไล่คนต่างด้าว ผลของการขัดกันทางอาวุธต่อสนธิสัญญา และความรับผิดขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกลไกอื่นของ UNGA ที่ทำหน้าที่พัฒนากฎหมายระหว่างประเทศและต้องเสนอรายงานให้คณะกรรมการ ๖ พิจารณาเป็นประจำทุกปี คือ คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) และคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law – UNCITRAL)

 

คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดหลักนิติธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของหลักการและระบบกฎหมายระหว่างประเทศ โดยผลงานของ ILC มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการอภิปรายและเจรจาจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ อาทิ กฎหมายสนธิสัญญา ความคุ้มกันทางทูตและทางกงสุล ความรับผิดของรัฐ  โดย ILC จะเสนอรายงานประจำปี ข้อแนะนำ และร่างข้อบท (draft articles/ principles/guidelines) ในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ ทั้งนี้ ILC เป็นองค์กรย่อย หรือที่เรียกว่า subsidiary organ ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อันประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านกฎหมายระหว่างประเทศจำนวน ๓๔ คน จาก ๕ ภูมิภาค โดยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจด้านการประมวลและพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศตามข้อ ๑๓ (เอ) ของกฎบัตรสหประชาชาติ

 

นอกเหนือจากการส่งคำตอบต่อแบบสอบถามของ ILC แล้ว การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนรัฐสมาชิกเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ในการประชุมคณะกรรมการ ๖ ในระเบียบวาระเรื่อง “รายงานการดำเนินการของ ILC” จะช่วยทำให้ ILC ได้รับทราบแนวปฏิบัติของรัฐ (State Practice) ในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่งานประมวลกฎหมายจารีตประเพณี และการพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ ของ ILC ต่อไป

 

กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทยในกรอบของคณะกรรมการ ๖ อาทิ การเข้าร่วมการประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ การเข้าร่วมพิจารณาจัดทำข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมบทบาทและรักษาผลประโยชน์ของไทย การติดตามการอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการกำหนดท่าทีที่เหมาะสมของไทยในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ระหว่างการหารือ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และการประชุมคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย) เป็นประจำทุกปี ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งประเทศไทยจะนำประเด็นข้อกฎหมายระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติไปพัฒนาในกรอบภูมิภาค ในระดับทวิภาคีและในระดับประเทศต่อไป

๑ ตามข้อ ๗ ของกฎบัตรสหประชาชาติ องค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติประกอบด้วย สมัชชาใหญ่ คณะมนตรี ความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ

 

ถ้อยแถลงของฝ่ายไทยในที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย) ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖

ระเบียบวาระที่ ๘๗  "การคุ้มครองบุคคลในเหตุการณ์ภัยพิบัติ (Protection of persons in the event of disasters)"

 

การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไทยในที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย) ดูรายละเอียด

ถ้อยแถลง (Statement) ของฝ่ายไทย แสดงมุมมองด้านกฎหมายระหว่างประเทศและท่าทีของไทยต่อร่างข้อบทของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission - ILC) ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลในเหตุการณ์ภัยพิบัติ (Draft Articles on the Protection of Persons in the Event of Disasters) (ดูที่เอกสารเพิ่มเติม)

ร่างข้อบทของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ดูรายละเอียด

ระเบียบวาระที่ ๘๒ "รายงานผลการประชุมสมัยที่ ๗๒ ของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (Report of the International Law Commission on the work of its seventy-second session)"

การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไทยในที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย)

การปกป้องชั้นบรรยากาศ (Protection of the Atmosphere) และการใช้สนธิสัญญาเป็นการชั่วคราว (Provisional application of treaties) ดูถ้อยแถลงฉบับเต็ม

ความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากเขตอำนาจทางอาญาของศาลต่างประเทศ (Immunity of State officials from foreign criminal jurisdiction) และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล (Sea-level rise) ดูถ้อยแถลงฉบับเต็ม

หลักการทั่วไปของกฎหมาย (General Principles of Law) ดูถ้อยแถลงฉบับเต็ม

ILC's Text of the Draft Guidelines on the Protection of the Atmosphere See more

ILC's Text of the Guide to Provisional Application of Treaties See more

ระเบียบวาระที่ ๘๑ "โครงการช่วยเหลือแห่งสหประชาชาติในการเรียน การสอน การเผยแพร่และการเพิ่มพูนความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ (United Nations Programme of Assistance in the Teaching, Study, Dissemination and Wider Appreciation of International Law)"

 

การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไทยในที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ (กฎหมาย) ดูรายละเอียด

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหประชาชาติ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 7 ครั้ง คลิก

ห้องสมุดโสตทัศนูปกรณ์กฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UN Audiovisual Library of International Law)  คลิก

ระเบียบวาระที่ ๘๕ เรื่องหลักนิติธรรมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ (The rule of law at the national and international levels) คลิก

 

บทความที่น่าสนใจ

บทสัมภาษณ์นายจิตติชัย พัชรเดชาธร นักการทูตปฏิบัติการ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายในฐานะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการหก (กฎหมาย)
ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 อ่านเพิ่มเติม คลิก

* * * * * * * * * *

 

กลุ่มวิชาการและสารสนเทศกฎหมายระหว่างประเทศ

เผยแพร่: วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

เพิ่มเติมข้อมูลล่าสุด : ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

เอกสารประกอบ

2021-12-16_Statement_Program_of_Assistance_as_delivered_-_2.pdf