UN Regional Course in International Law

UN Regional Course in International Law

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2566

| 3,978 view

S__23986297

โครงการฝึกอบรมหลักสูตรด้านกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหประชาชาติ (The United Nations Regional Course in International Law for Asia-Pacific)

ความเป็นมา
หลักสูตร UN Regional Courses in International Law เป็นกิจกรรมหลักภายใต้โครงการ Programme of Assistance in the Teaching, Study, Dissemination and Wider Appreciation of International Law ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศรวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยมี Codification Division ของ UN Office of Legal Affairs เป็นผู้ดำเนินการ

 

หลักสูตรดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักกฎหมายจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศในหลากหลายสาขา และมีความเข้าใจที่ตรงกันในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายนักกฎหมายในภูมิภาคทั้งแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และลาตินอเมริกาและแคริเบียน

 

หลักสูตรฯ สำหรับเอเชียแปซิฟิกเคยจัดมาแล้ว 12 ครั้ง โดยไทยเป็นเจ้าภาพ 7 ครั้ง กล่าวคือ ปี พ.ศ. 2529 2548 2555 2559 2560 2561 และ 2562 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและสถาบันการต่างประเทศเทววงศ์วโรปการร่วมกับสหประชาชาติวางแผนจะเป็นเจ้าภาพในการจัดหลักสูตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมของทุกปี ณ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP)

 

ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 20-35 คน โดยสหประชาชาติเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดจำนวน 53 ประเทศ ซึ่งผู้สมัครจะต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและมีอายุระหว่าง 24-45 ปี ทั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพสามารถส่งผู้เข้าร่วมจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้ 5 คน ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

 

ทั้งนี้ สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก


เนื้อหาหลักสูตร
สหประชาชาติจะเป็นผู้จัดทำโปรแกรมการเรียนการสอน และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในกฎหมายระหว่างประเทศด้านต่าง ๆ มาเป็นผู้บรรยาย โดยมาจากหลายภูมิภาคและจากระบบกฎหมายที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ อาทิ กฎหมายสนธิสัญญา กฎหมายองค์การระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กฎหมายทะเล กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงเทคนิคการค้นคว้าและการร่างกฎหมาย


กิจกรรมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรม
นอกเหนือจากการเข้าร่วมหลักสูตรฯ ไทยในฐานะประเทศเจ้าบ้านได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์และความเป็นไทยให้กับผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างความประทับใจและส่งเสริมความนิยมไทยในต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการศึกษาดูงาน ณ สวนมะพร้าว K Fresh ที่เป็นแหล่งส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทย เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้วิถีการเกษตรของไทย รวมถึงจัดให้มีกิจกรรมเชิงเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนการจัดทำผ้ามัดย้อม ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจัดให้มีการทัศนะศึกษา ณ โครงการช่างหัวมันในพระราชดำริ เพื่อเป็นการเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งไทยและต่างชาติ

S__23986299

 

รายวิชาที่เปิดสอน
หลักสูตรดังกล่าวได้เปิดสอนในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น กฎหมายองค์การระหว่างประเทศ กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาดังต่อไปนี้

  • Introduction to international law
  • Treaty law
  • State responsibility
  • International peace and security
  • Peaceful settlement of international disputes
  • Diplomatic and consular law
  • International organizations
  • United Nations institutions and law making
  • The Work of the International Law Commission
  • African Union law and institutions
  • Organization of American States law and institutions
  • International human rights law
  • Movements of persons
  • International humanitarian law


ผู้สนใจสมัครเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรฯ สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครหลักสูตรระดับภูมิภาคนั้น ผู้สมัครจะต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายและประสบการณ์วิชาชีพในสาขากฎหมายระหว่างประเทศ และมีความเชี่ยวชาญในด้านการใช้ภาษาอังกฤษ โดยจะต้องมั่นใจว่าเมื่อได้รับการคัดเลือกจะสามารถเข้าร่วมหลักสูตรได้อย่างครบถ้วน

 

หลักสูตรระดับภูมิภาคนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจากรัฐสมาชิกสหประชาชาติและรัฐผู้สังเกตการณ์ (observer states) โดยไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับกระบวนการคัดเลือก และสามารถขอรับการสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมอบรมหลักสูตรดังกล่าวได้ ซึ่งผู้สนใจจะสมัครเข้าร่วมหลักสูตรฯ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้ที่นี่ คลิก


การจัดบรรยายพิเศษโดยวิทยากรของหลักสูตรฯ
ในระหว่างการอบรมหลักสูตรฯ กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายจะถือโอกาสเชิญผู้บรรยายที่มาสอนให้กับหลักสูตรฯ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และมีชื่อเสียงในระดับโลกมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วม ซึ่งเป็นการสร้างความตื่นตัวต่อกฎหมายระหว่างประเทศในหัวข้อที่น่าสนใจ และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรด้านกฎหมายของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

  • ปี พ.ศ. 2559
    Professor Alain Pellet อดีตประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Law Commission) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ Pleading before International Tribunals โดยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (ใน ขณะนั้น) และ Judge Hisashi Owada ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้ร่วมอภิปราย
  • ปี พ.ศ. 2560
    Sir Michael Wood สมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (International Law Commission) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ International Law in the (re)making: Work of the International Law Commission and Challenges of the New World
  • ปี พ.ศ. 2561
    Professor Patricia Galvaõ Teles สมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (International Law Commission) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ The International Law Commission viewed from the outside: Member States, Academia, and the International Court of Justice
  • ปี พ.ศ. 2562
    กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ทาบทาม Professor Alina Miron นักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐบาลไทยในการต่อสู้คดีตีความปราสาทพระวิหาร มาบรรยายพิเศษหัวข้อ “กลไกระงับข้อพิพาทภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องเขตแดนทางบกและเขตทางทะเล” ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ


* * * * *