ข้อมูลเขตแดน

ข้อมูลเขตแดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2566

| 18,849 view

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการคือ

  1. มีประชากรอยู่ถาวร
  2. มีดินแดนที่แน่ชัด
  3. มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ
  4. มีความสามารถในการก่อนิติสัมพันธ์

อย่างไรก็ดี การมีดินแดนที่แน่ชัดนั้น มิได้หมายความว่ารัฐจะต้องทราบเขตแดนอย่างชัดแจ้งทุกแห่งตลอดแนวเขตแดนจึงจะเป็นรัฐได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ในยุคปัจจุบันก็ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาเขตแดนระหว่างกันอันเนื่องมาจากความไม่แน่ชัดของเส้นเขตแดน แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ในสมัยก่อน แนวความคิดเรื่องเขตแดนเป็นเพียงบริเวณไกลที่สุดที่รัฐสามารถใช้อำนาจปกครองไปถึง และพร้อมที่จะใช้กำลังป้องกันเมื่อมีศัตรูรุกราน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความจำเป็นและความต้องการใช้ประโยชน์จากดินแดนเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะกำหนดเขตแดนระหว่างกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันเขตแดนจึงเป็นเส้นแบ่งขอบเขตที่รัฐสามารถใช้อำนาจอธิปไตยและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

วิธีการกำหนดเขตแดน

วิธีการกำหนดเขตแดนอาจแบ่งได้เป็น 2 วิธีคือ

  1. โดยใช้วิธีทางเรขาคณิต
  2. โดยใช้สภาพภูมิประเทศ
 

การกำหนดเขตแดนโดยใช้วิธีทางเรขาคณิต

วิธีการนี้เป็นทางปฏิบัติซึ่งนิยมกันในอดีตซึ่งไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประเทศที่แน่ชัด หรือไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจภูมิประเทศได้ หากดูจากแผนที่โลกก็จะพบว่ามีการใช้วิธีการนี้ในการกำหนดเขตแดนของรัฐจำนวนมากในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา และทวีปเอเชีย โดยการใช้เส้นขนานหรือเส้นรุ้ง (parallels of latitude) การใช้เส้นแวง (meridians of longitude)  หรือการใช้เส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เป็นต้น

 

กรณีตัวอย่างของการใช้เส้นขนานหรือเส้นรุ้ง

  • เขตแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ซึ่งใช้เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ
  • เขตแดนสหรัฐอเมริกา-แคนาดา ซึ่งใช้เส้นขนานที่ 49 องศาเหนือ

 

กรณีตัวอย่างของการใช้เส้นแวง

  • เขตแดนแคนาดา-มลรัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เส้นแวงที่ 141 องศาตะวันตก
  • ส่วนใหญ่ของเขตแดนอินโดนีเซีย-ปาปัวนิวกินี ซึ่งใช้เส้นแวงที่ 141 องศาตะวันออก

 

กรณีตัวอย่างของการใช้เส้นตรง

  • เขตแดนมลรัฐอริโซนาของสหรัฐอเมริกา-มลรัฐโซโนราของเม็กซิโก ซึ่งเป็นแนวเส้นตรงจากเส้นแวงที่ 111 องศาตะวันตกไปยังแม่น้ำโคโรลาโด
  • เขตแดนอิสราเอล-อียิปต์ ซึ่งเป็นแนวเส้นตรงจากอ่าวอากาบ้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

 

 

 

การกำหนดเขตแดนโดยใช้สภาพภูมิประเทศ

วิธีการนี้เป็นทางปฏิบัติที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยการใช้ภูมิประเทศที่เห็นได้เด่นชัดและเป็นอุปสรรคธรรมชาติ เป็นเขตแดนระหว่างกัน ซึ่งอุปสรรคธรรมชาติที่นิยมใช้กันมากก็คือ ภูเขากับแม่น้ำ

 

การใช้ภูเขาเป็นเขตแดน

ภูเขาเป็นพรมแดนธรรมชาติที่แบ่งกลุ่มคนออกจากกันอย่างแท้จริง

ในอดีตมีการกำหนดเขตแดนที่เป็น ภูเขาไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน อาทิ ใช้เชิงเขาฟากใดฟากหนึ่ง ใช้ขอบหน้าผา ใช้ถนนหรือทางเดินบนภูเขา เป็นต้น แต่วิธีการที่นิยมกันมากมีอยู่ 2 วิธีคือ การใช้สันเขา (Crest) หรือยอดเขา กับการใช้สันปันน้ำ (Watershed) คือแนวสันเขาที่แบ่งน้ำให้ไหลลงลาดเขาไปยังลุ่มน้ำ 2 ฟากของแนวเขานั้น

ในปัจจุบัน การใช้สันปันน้ำเป็นที่นิยมในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ เพราะไม่กระทบกระเทือนต่อชุมชนซึ่งมักอาศัยอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มน้ำ และการใช้ทิศทางการไหลของน้ำเป็นตัวกำหนดก็ให้ความเป็นธรรมในการใช้น้ำด้วย ในกรณีที่มีแนวสันปันน้ำหลายแนว ก็นิยมกันให้ใช้สันปันน้ำที่สำคัญหรือสันปันน้ำหลัก

 

การใช้แม่น้ำเป็นเขตแดน

ในอดีตก็มีการกำหนดเขตแดนในแม่น้ำด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น ในสมัยกลาง แม่น้ำเขตแดนในทวีปยุโรปเคยถือกันว่าเป็นของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ บางกรณีก็กำหนดให้แม่น้ำทั้งลำน้ำเป็นเขตแดน โดยแม่น้ำอาจเป็นกรรมสิทธิ์รวม (condominium) ของรัฐชายฝั่ง บางกรณีซึ่งรัฐหนึ่งมีกำลังอำนาจเหนือกว่าอีกรัฐหนึ่ง ก็มีการกำหนดให้แม่น้ำเป็นของรัฐนั้นเพียงฝ่ายเดียว บางกรณีก็ใช้เส้นมัธยะ และบางกรณีก็ใช้ร่องน้ำลึกที่สุด

ในปัจจุบัน มีทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่เด่นชัด คือ

  1. ในกรณีที่แม่น้ำไม่เหมาะสมในการเดินเรือ จะนิยมกำหนดเขตแดนโดยใช้จุดกึ่งกลางแม่น้ำ หรือที่เรียกกันว่าการใช้เส้นมัธยะ โดยที่ความกว้างของแม่น้ำขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือระดับน้ำกับความลาดชันของตลิ่ง เช่นนี้จึงจำเป็นต้องกำหนดให้แน่ชัดว่าจะวัดความกว้างของแม่น้ำกันอย่างไร โดยทั่วไป มักใช้ระดับน้ำเฉลี่ยซึ่งคำนวณจากการวัดระดับน้ำในช่วงระยะเวลาที่นานพอควร เช่น 3-5 ปี
  2. ในกรณีที่แม่น้ำสามารถใช้ในการเดินเรือ มักจะกำหนดเขตแดนโดยใช้ร่องน้ำลึก (Thalweg) ซึ่งเป็นวิธีการที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน โดยการนำหลักการร่องน้ำลึกมาใช้เป็นครั้งแรกในการประชุมที่เมืองราสตาด (Congress of Rastadt) เมื่อปี ค.ศ. 1797-1799 เพื่อกำหนดเขตแดนในแม่น้ำ Rhine และได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสนธิสัญญาสันติภาพ ณ เมืองลูเน่วิลล์ (Luneville) ฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1801 ในทางตำราได้ให้นิยามคำนี้ไว้ต่าง ๆ กัน เช่น เส้นเชื่อมระหว่างจุดลึกที่สุด (Deepest Points) หรือเส้นเชื่อมระหว่างจุดลึกที่สุดในร่องน้ำเดินเรือ (Deepest Points in the Channel) อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นว่าร่องน้ำลึก คือกึ่งกลางของร่องน้ำเดินเรือที่สำคัญ (Centre of the Normal Principal Navigation Channel)

 

เกาะในแม่น้ำ

ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะในแม่น้ำเขตแดนระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติ รัฐริมฝั่งน้ำ (riparian states) จึงต้องตกลงกันเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะเหล่านั้น

ในกรณีที่มีเกาะเกิดใหม่ที่รัฐริมฝั่งน้ำยังไม่เคยตกลงกันไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับอธิปไตย รัฐริมฝั่งน้ำก็จะต้องทำความตกลงกันเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

 

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางเดินแม่น้ำเขตแดนต่อเส้นเขตแดน

ปัจจุบันมีทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่แพร่หลายคือใช้ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำเป็นตัวกำหนด กล่าวคือหากลำน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Erosion/Accretion) เส้นเขตแดนจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ถ้าลำน้ำเปลี่ยนอย่างฉับพลัน (Avulsion) เส้นเขตแดนจะไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี บางกรณีก็อาจตกลงกันให้เส้นเขตแดนเปลี่ยนไปตามทางเดินใหม่ของลำน้ำไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรืออย่างฉับพลัน

บางกรณี ก็อาจตกลงกันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาว่าเมื่อเกิดกรณีแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน เส้นเขตแดนควรเปลี่ยนตามไปด้วยหรือไม่

 

ผลการเปลี่ยนทางเดินน้ำต่อกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ

โดยทั่วไปมักนิยมให้อธิปไตยเหนือเกาะเปลี่ยนแปลงไปตามเส้นเขตแดน แต่หลักการมีข้อเสียคือ ผลกระทบต่อสิทธิของเอกชนที่อาศัยในเกาะเหล่านั้น นอกจากนั้น แม่น้ำอาจเปลี่ยนทางเดินบ่อย ซึ่งจะทำให้สถานะเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา

 

 

เขตแดนของประเทศไทยโดยสังเขป

เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความยาวประมาณ 5,656 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชาประมาณ 798 กิโลเมตร ไทย-ลาวประมาณ 1,810 กิโลเมตร ไทย-เมียนมาประมาณ 2,401 กิโลเมตร และไทย-มาเลเซียประมาณ 647 กิโลเมตร

 

เขตแดนดังกล่าวเป็นผลจากการตกลงกำหนดเขตแดนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม และไทยต้องเสียอาณาเขตซึ่งเคยเป็นหัวเมืองประเทศราชมาช้านานให้แก่ประเทศทั้งสองเพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและเพื่อให้ได้คืนมาซึ่งอธิปไตยทางศาล

 

โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยเคารพพันธกรณีตามสนธิสัญญาที่ได้จัดทำขึ้นในอดีต และยึดถือว่าเส้นเขตแดนระหว่างกันเป็นไปตามที่ได้ปักปันกันไว้แล้ว อย่างไรก็ดี โดยที่เขตแดนส่วนใหญ่เป็นไปตามสันปันน้ำกับร่องน้ำลึกซึ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และแม้จะอาจกล่าวได้ว่ามีการสำรวจและปักปันเขตแดนกันทั้งหมดแล้วในอดีต แต่วิชาการในด้านภูมิศาสตร์ตลอดจนเทคนิคในการสำรวจและการจัดทำแผนที่ในขณะนั้นยังไม่ก้าวหน้าเพียงพอที่จะทำให้ได้เส้นเขตแดนที่แน่ชัดเท่าที่ควร จึงทำให้จำเป็นต้องดำเนินการให้ทราบเขตแดนที่แน่ชัดระหว่างกัน

 

เขตแดนไทย - กัมพูชา

มีความยาวประมาณ 798 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนตามสันปันน้ำและแนวเส้นตรง 590 กิโลเมตร กับร่องน้ำลึกและลำน้ำอีก 208 กิโลเมตร เขตแดนบริเวณนี้เป็นผลจากการปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 กับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และพิธีสารแนบท้าย โดยมีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนไว้ 2 ชุดคือแผนที่ 11 ระวางซึ่งจัดทำขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 กับแผนที่ 5 ระวางซึ่งจัดทำขึ้นตามสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 และมีการปักหลักเขตแดนไว้จำนวน 73 หลัก ช่วงปี ค.ศ. 1909-1910 และปี ค.ศ. 1919-1920 ซึ่งแต่ละหลักมีบันทึกวาจาปักหลักหมายเขต (Procès-verbal d'abornement)

จังหวัดชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

 

เขตแดนไทย - ลาว

มีความยาวประมาณ 1,810 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนตามสันปันน้ำ 702 กิโลเมตร กับร่องน้ำลึกอีก 1,108 กิโลเมตร เขตแดนบริเวณนี้เป็นผลจากการปักปันเขตแดนตามอนุสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ความตกลงสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และพิธีสารแนบท้าย โดยมีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนไว้คือแผนที่ 11 ระวางซึ่งจัดทำขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 (ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่แสดงเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา) สำหรับส่วนที่เป็นแม่น้ำโขง เป็นไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1926 โดยมีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงไว้เช่นกัน

จังหวัดชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

 

**ข้อมูลเพิ่มเติม : บทสัมภาษณ์นายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะที่สัมภาษณ์) โดย The Cloud เรื่อง "เขต-โขง : วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง" คลิกที่นี่

 

เขตแดนไทย - เมียนมา

มีความยาวประมาณ 2,401 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนตามสันปันน้ำและแนวเส้นตรง 1,687 กิโลเมตร กับลำน้ำอีก 714 กิโลเมตร เขตแดนบริเวณนี้เป็นผลจากการปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-อังกฤษ ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868 สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ฉบับลงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ 1883 พิธีสารฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1894 หนังสือแลกเปลี่ยนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1934 และบันทึกความเข้าใจฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1991 โดยมีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนไว้ 2 ชุดคือแผนที่ 2 ระวางซึ่งจัดทำขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1868 กับ แผนที่ 3 ระวางซึ่งจัดทำขึ้นแนบท้ายพิธีสารฉบับปี ค.ศ. 1894

จังหวัดชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

 

เขตแดนไทย - มาเลเซีย

มีความยาวประมาณ 647 กิโลเมตร แยกเป็นเขตแดนตามสันปันน้ำ 552 กิโลเมตร กับร่องน้ำลึกอีก 95 กิโลเมตร เขตแดนบริเวณนี้เป็นผลจากการปักปันเขตเดนตามสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1909 โดยได้มีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดนซึ่งจัดทำขึ้นตามสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว

จังหวัดชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ได้แก่ จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส

* * * * * 

 

เอกสารประกอบ

งานเขตแดนกับหอจดหมายเหตุ.pdf