สนธิสัญญาฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดระเบียบกิจกรรมในทะเลหลวงกับเขตพื้นที่ท้องทะเลลึก

สนธิสัญญาฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดระเบียบกิจกรรมในทะเลหลวงกับเขตพื้นที่ท้องทะเลลึก

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ส.ค. 2566

| 2,745 view

เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ - ๓ มีนาคม ๒๕๖๖ สหประชาชาติได้เรียกประชุม BBNJ Intergovernmental Conference ครั้งที่ ๕ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา …… (เวลาท้องถิ่น) ที่ประชุมได้รับรองร่างตราสาร BBNJ[๑] โดยฉันทามติ

  ในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม โดยมีนายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เข้าร่วมการประชุมด้วย รวม ๕ คน ที่ผ่านมา มีการประชุมเจรจามาแล้ว ๑๐ รอบในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา

         ร่างตราสาร BBNJ เป็นสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐ ได้แก่ ทะเลหลวงกับเขตพื้นที่ท้องทะเลลึก​ (ศัพท์กฎหมายเรียกว่าเขตพื้นที่)​ ซึ่งจะให้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว​ซึ่งเป็นพื้นที่ร่วมกันของทุกประเทศ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน​ รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงิน​และ​ไม่เป็น​ตัวเงินอย่างเที่ยงธรรม เช่น​ การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านการวิจัยจากการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine genetic resources หรือ MGRs)

          การบรรลุสนธิสัญญาดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการจัดระเบียบพื้นที่บนโลกที่ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ โดยสนธิสัญญานี้จะครอบคลุมการจัดระเบียบการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่นอกอาณาเขตของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ การแสวงประโยชน์จาก MGRs ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากรัฐที่เข้าไปแสวงประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศกำลังพัฒนา การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลหลวง และการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใด ๆในทะเลหลวงกับเขตพื้นที่ท้องทะเลลึก เป็นต้น

           สนธิสัญญานี้เป็นที่คาดหวังของประเทศต่าง ๆ และภาคประชาสังคมเพราะจะเป็นสนธิสัญญาที่จัดระเบียบพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมของทุกประเทศ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

           ทะเลหลวงคือทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในทะเลอาณาเขต หรือในน่านน้ำภายในของรัฐ หรือในน่านน้ำหมู่เกาะของรัฐหมู่เกาะ โดยทะเลหลวงจะได้รับการสงวนไว้เพื่อความมุ่งประสงค์ทางสันติและไม่มีรัฐใดที่อาจอ้างเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของทะเลหลวงมาอยู่ในอธิปไตยของตนได้

 

*******************

 

[๑] International Legally Binding Instrument under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the Conservation and Sustainable Use of Marine Biological Diversity of Areas Beyond National Jurisdiction: BBNJ

[๒] ร่างตราสารระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ