เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Privilege & Immunity) หมายถึง สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภทที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางทูตและตัวแทนทางทูต และเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางไปรับตำแหน่งของตน และเมื่อการหน้าที่ของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลยุติลง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลนั้นออกไปจากประเทศของรัฐผู้รับ
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง |
เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุลมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations) และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (1963 Vienna Convention on Consular Relations)
1. อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations)
|
ความคุ้มกัน
- สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ของคณะผู้แทน เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้น และพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การอายัด หรือการบังคับคดี (ข้อ 22)
- ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ (ข้อ 29)
- ตัวแทนทางทูตได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของรัฐผู้รับ (ข้อ 31)
เอกสิทธิ์
- ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งปวงของชาติ ของท้องถิ่น หรือ ของเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นค่าติดพันและภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวจากซึ่งแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ เป็นต้น) (ข้อ 34)
หน้าที่
- ตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)
- ตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ในรัฐผู้รับ (ข้อ 42)
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
2. อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (1963 Vienna Convention on Consular Relations)
|
ความคุ้มกัน
- สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด (ข้อ 31)
- เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)
เอกสิทธิ์
- เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ เป็นต้น) (ข้อ 49)
หน้าที่
- เจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 55 วรรคหนึ่ง)
- เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพจะต้องไม่ประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อ ผลกำไรส่วนตัว (ข้อ 57 วรรคหนึ่ง)
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
กฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ |
ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับข้างต้น จึงได้ตรากฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ ได้แก่
- พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961
- พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963
* * * * *