เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุล

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุล

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ค. 2566

| 28,563 view

เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Privilege & Immunity) หมายถึง สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภทที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางทูตตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางไปรับตำแหน่งของตน และเมื่อการทำหน้าที่ของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลยุติลง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลนั้นออกไปจากประเทศของรัฐผู้รับ

 

กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุลมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations) และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (1963 Vienna Convention on Consular Relations)

1. อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations)

ความคุ้มกัน

  • สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ของคณะผู้แทน เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้น และพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การอายัด หรือการบังคับคดี (ข้อ 22)
  • ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ (ข้อ 29)
  • ตัวแทนทางทูตได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของรัฐผู้รับ (ข้อ 31)

 

เอกสิทธิ์

  • ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งปวงของชาติ ของท้องถิ่น หรือ ของเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นค่าติดพันและภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวจากซึ่งแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ เป็นต้น) (ข้อ 34)

 

หน้าที่

  • ตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)
  • ตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ในรัฐผู้รับ (ข้อ 42)

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

 

2. อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (1963 Vienna Convention on Consular Relations)

ความคุ้มกัน

  • สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด (ข้อ 31)
  • เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)

 

เอกสิทธิ์

  • เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ เป็นต้น) (ข้อ 49)

 

หน้าที่

  • เจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ (ข้อ 55 วรรคหนึ่ง)
  • เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพจะต้องไม่ประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อ ผลกำไรส่วนตัว (ข้อ 57 วรรคหนึ่ง)

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

 

กฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ

ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับข้างต้น จึงได้ตรากฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ ได้แก่

  1. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961
  1. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963

* * * * *