กระทรวงการต่างประเทศเริ่มกระบวนการพิจารณาของไทยเพื่อลงนามและเข้าเป็นภาคีความตกลง BBNJ

กระทรวงการต่างประเทศเริ่มกระบวนการพิจารณาของไทยเพื่อลงนามและเข้าเป็นภาคีความตกลง BBNJ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 เม.ย. 2567

| 488 view

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the conservation and sustainable use of marine biological diversity of areas beyond national jurisdiction: BBNJ) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยครั้งแรกหลังจากที่ประชุมรัฐภาคีได้มีการรับรองร่างความตกลงดังกล่าวในกรอบสหประชาชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของหน่วยงานไทยเกี่ยวกับพันธกรณีของความตกลง BBNJ รวมถึงการพิจารณาผลประโยชน์และข้อผูกพันที่ไทยจะมีจากการการลงนามและเข้าเป็นภาคีในความตกลงดังกล่าวของไทยในอนาคต

ปัจจุบัน ความตกลง BBNJ อยู่ระหว่างเปิดให้รัฐต่าง ๆ เข้าลงนาม จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2568 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งความตกลง BBNJ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบกิจกรรมการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนอกเขตอำนาจรัฐ รวมถึงกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในฐานะมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ (common heritage of humankind)

************************************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ