กฎหมายสิ่งเเวดล้อม

กฎหมายสิ่งเเวดล้อม

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2566

| 53,278 view

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 57(2) บัญญัติว่า "รัฐต้อง อนุรักษ์ คุ้มครอง บํารุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุล และยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดําเนินการและได้รับประโยชน์จากการดําเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ" ดังนั้น หากมองในแง่การบัญญัติกฎหมาย กฎหมายสิ่งแวดล้อมคือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการปกป้อง เยียวยา และสร้างหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมดังกล่าวอย่างยั่งยืน

 

กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

สนธิสัญญาซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ

  1. กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) : เพื่อรักษาความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล และมีมาตรการจัดการไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดผลกระทบต่อการผลิตอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  2. พิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) : เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซในกลุ่ม ไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (HFCs) และเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2002 คลิก
  3. ความตกลงปารีส (Paris Agreement) : เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นจนเกินกว่าที่กำหนด รวมถึงกำหนดมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  4. พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (The Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) : เพื่อควบคุม ยับยั้ง และรณรงค์ให้ลดการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมถึงการรักษาชั้นบรรยากาศโอโซนที่เริ่มจะสูญสลายไปเนื่องจากสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  5. ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ค.ศ. 1979 (Agreement Governing the Activities of States on the Moon and Other Celestial Bodies) มีหลักการสำคัญคือดวงจันทร์ และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ในระบบสุริยะถือเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ (Common Heritage of Mankind) ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก


สนธิสัญญาซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ/หรือ ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ

  1. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้ง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา (United Nations Convention to Combat Desertification in Those Countries Experiencing Serious Drought and/or Desertification, Particularly in Africa – UNCCD): เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแปรสภาพเป็นทะเลทราย โดยการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า การจัดเตรียมแผนความมั่นคงทางอาหารอย่างเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  2. อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity - CBD) : เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  3. อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora - CITES) : เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่า พืชป่า กำหนดมาตรการในการบังคับใช้ตามอนุสัญญา โดยมิให้มีการค้าสัตว์ป่า พืชป่า รวมทั้งมีการควบคุม ตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า พืชป่า และมีการขนส่งที่ปลอดภัย ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  4. อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) : เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม การแสวงหาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับผิดชอบ ดูแล คุ้มครองวัฒนธรรมและธรรมชาติ และละเว้นการดำเนินการใดโดยเจตนาที่จะทำลายมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

สนธิสัญญาซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการจัดการของเสีย มลพิษ และสารเคมีอันตราย อาทิ

  1. อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนเเละการกำจัดของเสียอันตรายเเละการจำกัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) : เพื่อควบคุมการนำเข้า ส่งออกและนำผ่านของเสียอันตรายให้เกิดความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย รวมทั้งป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมายและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตราย ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  2. อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade) : เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือและรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด รวมทั้งปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมีและส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเป็นภาคีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  3. อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) : เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการลดและ/หรือเลิกการผลิต การใช้และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ตกค้างยาวนาน สะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมันของมนุษย์เเละสัตว์ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
  4. อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury) : เพื่อจัดทำแผนจัดการระดับชาติในการควบคุมการปล่อยปรอทสู่แห่งน้ำและดิน การเก็บกักปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท ให้เกิดความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเป็นภาคีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คลิก

 

กฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ

ในการบริหารจัดการภายในประเทศ ประเทศไทยได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่ออนุรักษ์ คุ้มครอง บํารุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่

  1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 
  2. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
  3. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
  4. พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
  5. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

* * * * *

เอกสารประกอบ

พรบ.ส่งเสริมเเละรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อม_2535.pdf
Kyoto_protocol.pdf