กฎหมายอวกาศ (Space Law) เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในอวกาศบนหลักการว่าทุกประเทศ มีเสรีภาพในการสำรวจและใช้อวกาศส่วนนอก (Outer Space) รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่นๆ (Celestial Bodies) บนพื้นฐานแห่งการเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางสันติและให้เป็นผลประโยชน์ของประเทศทั้งมวล และจะไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชาติโดยการอ้างถึงอธิปไตย หรือโดยการใช้ การยึดครอง หรือวิธีการอื่นใด
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
สนธิสัญญาพหุภาคี (Multilateral Treaty) ภายใต้กรอบสหประชาชาติมี 5 ฉบับ ดังนี้
- สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 (Treaty on Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space, including the Moon and Other Celestial Bodies หรือ "Outer Space Treaty") เป็นสนธิสัญญาพหุภาคีฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในอวกาศ โดยได้วางหลักการสำคัญ อาทิ หลักการสำรวจและใช้อวกาศจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกประเทศและจะเป็นกิจกรรมของมวลมนุษย์ชาติ (province of all mankind) และจะไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐใด หลักเสรีภาพในการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศ (Freedom of Scientific Investigation) และหลักความรับผิดชอบระหว่างประเทศของรัฐสำหรับกิจกรรมของรัฐในอวกาศ (International Responsibility for National Activities) ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศและการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968 (Agreement on the Rescue of Astronauts, the Return of Astronauts and the Return of Objects Launched into Outer Space หรือ Rescue Agreement) มีหลักการสำคัญคือ หากภาคีได้รับข้อสนเทศหรือค้นพบว่ามีนักอวกาศประสบอุบัติเหตุ ประสบทุกข์ภัย หรือต้องลงพื้นดินอย่างฉุกเฉิน ภาคีมีหน้าที่จะต้องแจ้งรัฐผู้รับผิดชอบในการปล่อยยานอวกาศและแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติทราบโดยทันที และจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่สามารถกระทำได้เพื่อช่วยชีวิตและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่บุคคลเหล่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศต่อความเสียหายอันเนื่องจากวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1972 (Convention on International Liability for Damages Caused by Space Objects) มีหลักการสำคัญคือ รัฐผู้ส่งวัตถุอวกาศ (Launching State) หมายความรวมถึง รัฐผู้ส่ง (Launch) รัฐผู้ช่วยให้มีการจัดส่ง (Procure) และรัฐซึ่งได้มีการจัดส่งวัตถุอวกาศภายในอาณาเขตของรัฐ (Territory) หรือที่ได้ให้ความสะดวก (Facility) ในการจัดส่งวัตถุอวกาศซึ่งรัฐผู้ส่งวัตถุอวกาศนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งมวล (Absolutely Liable) สำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศนั้น ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- อนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1975 (Convention on Registration of Objects Launched into Outer Space) มีหลักการสำคัญคือ รัฐภาคีมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนวัตถุที่ส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกหรือเหนือวงโคจรของโลก (Earth Orbit or Beyond) และแจ้งถึงการจดทะเบียนดังกล่าวต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ค.ศ. 1979 (Agreement Governing the Activities of States on the Moon and Other Celestial Bodies) มีหลักการสำคัญคือดวงจันทร์ และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ในระบบสุริยะถือเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ (Common Heritage of Mankind) ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอกฯ และความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศฯ แล้ว
นอกจากนี้ ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ สนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ ในอวกาศส่วนนอก และใต้น้ำ ค.ศ. 1963 (Treaty Banning Nuclear Weapon Tests in the Atmosphere, in Outer Space and under Water) ความตกลงเกี่ยวกับองค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียม ค.ศ. 1971 (Agreement Relating to the International Telecommunications Satellite Organization) และอนุสัญญาว่าด้วยองค์การดาวเทียมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1976 (Convention on the International Mobile Satellite Organization)
สนธิสัญญาทวิภาคี (Bilateral treaty)
นอกจากสนธิสัญญาพหุภาคีแล้ว ไทยทำสนธิสัญญาทวิภาคีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับด้านอวกาศกับประเทศต่าง ๆ อาทิ
- ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วย ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ (Agreement between the Government of the French Republic and the Government of the Kingdom of Thailand Relating on Cooperation in the Field of Space Technologies and Applications) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2543 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียว่าด้วย ความร่วมมือในการสำรวจและการใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอกในทางสันติ (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of India on Cooperation in the Exploration and Use of Outer Space for Peaceful purposes) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
- บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การ การบินและอวกาศแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ (Memorandum of Understanding between the Ministry of Science and Technology of the Kingdom of Thailand and the Russian Federation and Space Agency on Cooperation in the Field of Space Technologies and Their Application) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2545
* * * * *