การลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement: HCA) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI)

การลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement: HCA) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI)

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 เม.ย. 2567

| 404 view

เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในนามรัฐบาลไทย และประธานกรรมการศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ในนามศูนย์ ACAI ได้ลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement: HCA) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่ของ ACAI ในประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

ศูนย์ ACAI มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ ACAI ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันลงนามในปี ๒๕๖๓ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ฯ และได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

การจัดตั้งสำนักงานของศูนย์ ACAI ในประเทศไทยสอดคล้องกับนโยบายของไทยต่อการเป็นศูนย์กลางที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย (นโยบาย Geneva of Asia) โดยที่ผ่านมา กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณายกร่างความตกลง HCA รวมทั้งได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเอกสิทธิ์สำหรับศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม พ.ศ. .... เพื่อให้ศูนย์ ACAI มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และให้ศูนย์ฯ และบุคลากรของศูนย์ได้รับเอกสิทธิ์ตามที่ระบุไว้ในความตกลง HCA ข้างต้น อันเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๑

* * * * * * *

กองสนธิสัญญา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
มีนาคม ๒๕๖๗


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศ คลิกที่นี่
รับชม VDO podcast เกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน คลิกที่นี่
รับชม VDO podcast เกี่ยวกับพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๑ คลิกที่นี่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ