เอกสิทธิ์เเละความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศ

เอกสิทธิ์เเละความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ค. 2566

| 13,944 view

ภูมิหลัง / ความเป็นมา

พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศ ในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสำนักงานองค์การระหว่างประเทศและสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศ

แนวคิดในการตราพระราชบัญญัติฯ คือเพื่อช่วยลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาในการตรากฎหมายรองรับการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศที่ประสงค์จะมาตั้งสำนักงานหรือดำเนินกิจกรรมหรือจัดประชุมในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาการตราพระราชบัญญัติรายฉบับใช้เวลานาน จนอาจทำให้กระบวนการออกกฎหมายภายในของไทยนำไปสู่การก่อให้เกิดอุปสรรคและความไม่แน่นอนในการดำเนินความสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศทั้งระดับรัฐบาล / กึ่งรัฐบาล กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ และการจัดประชุมนานาชาติต่าง ๆ

 

สาระสำคัญ

พระราชบัญญัติฯ กำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติปี ค.ศ. 1946 ซึ่งไทยเป็นภาคี และแนวปฏิบัติที่ไทยเคยทำกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยยังคงต้องจัดทำความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (host country agreement) โดยที่พระราชบัญญัติฯ ไม่กระทบต่อเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศภายใต้พระราชบัญญัติอื่น ๆ

โดยพระราชบัญญัติฯ (มาตรา 3) โดยที่ีกำหนดประเภทองค์กร/หน่วยงาน ดังนี้ 

  1. องค์การระหว่างประเทศ (องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลและกึ่งรัฐบาล)
  2. กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ (เช่น APEC BIMSTEC)
  3. การประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ
  4. การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน

** ทั้งนี้ ไม่รวมถึงองค์การเอกชนระหว่างประเทศ

 

หลักการในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน จะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงาน (Functional Necessity) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การหรือการประชุมดังกล่าว โดยพิจารณาตามพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติของนานาประเทศ และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากองค์การหรือการประชุมนั้น ๆ (มาตรา 4)

 

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันองค์การระหว่างประเทศ (ระดับรัฐบาล/กึ่งรัฐบาล)

 

องค์การระหว่างประเทศอาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 ซึ่งระบุไว้ 9 รายการ ได้แก่
  1. ยกเว้นภาษีทางตรงตามประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายอื่นสำหรับองค์การ ทรัพย์สิน สินทรัพย์และรายได้ขององค์การ
  2. ยกเว้นอากรศุลกากรเเละข้อห้ามหรือข้อกำกัดเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกสิ่งของ เพื่อใช้ในทางการขององค์การหรือสิ่งพิมพ์ขององค์การ
  3. ความละเมิดมิได้ของสถานที่ บรรณสาร และเอกสารขององค์การ
  4. ห้ามตรวจพิจารณาหนังสือโต้ตอบเเละการสื่อสาร ที่เป็นทางการขององค์การ
  5. สิทธิการได้มา การได้รับ การถือครอง และการโอนซึ่งเงินทุนหรือเงินตราใด ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตราขององค์การ
  6. สิทธิการใช้รหัส รวมทั้งการส่ง-รับ หนังสือโต้ตอบขององค์การโดยมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันไม่เกินเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต
  7. ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกรูปแบบสำหรับองค์การ ทรัพย์สิน และสินทรัพย์ขององค์การ เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการพาณิชย์
  8. ความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การยึด การอายัด การเวนคืน หรือการแทรกแซงในรูปแบบอื่นใดต่อทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ขององค์การ
  9. การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารที่เป็นทางการขององค์การ

 

บุคลากรขององค์การระหว่างประเทศอาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ในมาตรา ซึ่งระบุไว้ 9 รายการ ได้แก่
  1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร เฉพาะในส่วนที่เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศหรือรัฐบาลของประเทศตน
  2. ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของใช้ส่วนตัวในเวลาที่เข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในประเทศไทย
  3. ยกเว้นจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการจดทะเบียนคนต่างด้าว
  4. ความละเมิดมิได้ของที่พำนักและเอกสาร
  5. ความคุ้มกันจากการจับกุม คุมขัง และการยึดสัมภาระส่วนตัว
  6. ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำด้วยวาจา หรือที่เป็นลายลักษณ์อักษร และการกระทำทั้งปวง ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่เป็นทางการ
  7. ความคุ้มกันจากการตรวจตรา และการอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวกับสัมภาระส่วนตัวไม่เกินที่ให้แก่ผู้แทนทางการทูต
  8. การอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราไม่เกินที่ให้แก่ผู้แทนของรัฐต่างประเทศ
  9. การอำนวยความสะดวกในการส่งกลับคืนประเทศในเวลาที่มีวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศไม่เกินที่ให้แก่ผู้แทนทางการทูต

** กรณีที่บุคลากรเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยได้รับความคุ้มกันเฉพาะข้อ 6

 

นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศยังได้รับสถานะนิติบุคคลและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย (มาตรา 8) โดยมีวิธีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ออกพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 7)

 

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ (มาตรา 9)
  • ต้องเป็นกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ
  • จะให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่กลุ่มความร่วมมือฯ และบุคลากรของกลุ่มความร่วมมือฯ ตามมาตรา ๕ และ ๖ (เช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศ) ก็ได้ ดดยให้นำความในมาตรา ๔ เเละมาตรา ๗ มาบังคับใช้โดยอนุโลม
  • ถ้าเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยได้เอกสิทธิ์เเละความคุ้มกันตามม.7 เเล้ว ก็ให้เป็นนิติบุคคลและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย
  • วิธีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ออกพระราชกฤษฎีกา

 

การประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ

 

ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐอาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ใน (มาตรา 10) ซึ่งระบุไว้ 3 รายการ ได้แก่
  1. ยกเว้นภาษีทางตรงตามประมวลรัษฎากรสำหรับรายได้ที่ได้รับจากการจัดการประชุมในประเทศไทย
  2. ยกเว้นอากรศุลกากร และข้อห้ามหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสิ่งของเพื่อใช้ในการประชุมหรือสิ่งพิมพ์สำหรับการประชุม
  3. ความละเมิดมิได้ของสถานที่จัดประชุม ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และเอกสารของผู้จัดการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวกับการประชุม

ผู้แทนของรัฐ หรือผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐอาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ใน (มาตรา 6 เช่นเดียวกับบุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ)

 

ผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ที่มิได้เป็นผู้แทนของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ อาจได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรายการที่กำหนดไว้ในเรื่อง (มาตรา 12) คล้ายมาตรา 5 กับมาตรา6 ซึ่งระบุไว้ 6 รายการ ได้แก่
  1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าตอบแทน ที่ได้รับจากผู้จัดการประชุมอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการประชุม
  2. ยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับการประชุม
  3. ยกเว้นจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการจดทะเบียนคนต่างด้าว
  4. ความละเมิดมิได้ของเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุม
  5. ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำด้วยวาจา หรือที่เป็นลายลักษณ์อักษร และการกระทำทั้งปวง ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่เป็นทางการ และที่เกี่ยวกับการประชุมนั้น
  6. อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราไม่เกินที่ให้แก่ผู้แทนของรัฐต่างประเทศ

** กรณีที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยได้รับความคุ้มกันเฉพาะ ข้อ ๕

 

วิธีได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน รมว. กระทรวงการต่างประเทศ กับ รมว. กระทรวงการคลัง ร่วมกันประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 13)

 

การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน

ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชนอาจได้รับสิทธิประโยชน์รายการที่กำหนดไว้ใน (มาตรา 15) ซึ่งระบุไว้ 4 รายการ ได้แก่

  1. ยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับการประชุม
  2. ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประชุม
  3. อำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองให้แก่ผู้จัดการประชุมซึ่งเป็นคนต่างด้าว
  4. ยกเว้นอากรศุลกากรและข้อห้ามหรือข้อกำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสิ่งของเพื่อใช้ในการประชุม

** ในกรณีที่จำเป็นต้องนำคนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการประชุม คนต่างด้าวอาจได้รับสิทธิประโยชน์ตาม ข้อนี้ด้วย

 

ผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน อาจได้รับสิทธิประโยชน์ตามรายการที่กำหนดไว้ใน (มาตรา 16) ซึ่งระบุไว้ 4 รายการ ได้แก่
  1. ลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนที่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยได้รับจากผู้จัดการประชุมอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการประชุม การทำงานเกี่ยวกับการประชุม หรือการเป็นวิทยากรในการประชุม
  2. ยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับการประชุม
  3. ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประชุม
  4. อำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นคนต่างด้าว

 

วิธีได้รับสิทธิประโยชน์ ผู้ประสงค์จะจัดการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชนต้องเสนอเรื่องต่อสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) ซึ่งจะพิจารณาและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี

ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (มาตรา 20)

* * * * *