กฎหมายทะเล

กฎหมายทะเล

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 เม.ย. 2567

| 66,380 view

ทะเลมีพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่โลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทะเล ซึ่งพัฒนามาพร้อมกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ได้ประมวลอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิและหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ ในเขตทางทะเล ทั้งน่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตไหล่ทวีป ทะเลหลวง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นต้น

 

กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทะเล

 

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982)

อนุสัญญาฯ ได้มีการรับรอง ณ การประชุมสหประชาชาติด้านกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 (Third United Nations Conference on the Law of the Sea) และเปิดให้รัฐต่าง ๆ เข้าเป็นภาคี อนุสัญญาฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ สิทธิหน้าที่ของรัฐในเขตทางทะเลต่าง ๆ สิทธิการเดินเรือ การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกการระงับข้อพิพาท โดยไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ภาษาอังกฤษ คำแปลภาษาไทย

สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ

การกำหนดเขตทางทะเลต่าง ๆ สถานะทางกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของรัฐชายฝั่งและรัฐอื่น ๆ ในแต่ละเขตทางทะเล ได้แก่

  1. น่านน้ำภายใน (internal waters) หมายถึง น่านน้ำที่อยู่ถัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตเข้ามาทางผืนแผ่นดินของรัฐชายฝั่ง ซึ่งรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยใน (หรือเหนือ) น่านน้ำภายใน
  2. ทะเลอาณาเขต (territorial sea) มีความกว้างไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานออกไป รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือทะเลอาณาเขต
  3. เขตต่อเนื่อง (contiguous zone) โดยได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต โดยในเขตต่อเนื่อง รัฐชายฝั่งมีอำนาจในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันหรือลงโทษการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง และการสาธารณสุข
  4. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone - EEZ) ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต
  5. ในเขต EEZ รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ซึ่งเป็นสิทธิที่จำกัดกว่าอำนาจอธิปไตย แต่ครอบคลุมเรื่องการสำรวจ การแสวงประโยชน์ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเหนือพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของพื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป รวมถึงการสร้างเกาะเทียม สิ่งก่อสร้าง และสิ่งติดตั้งในทะเล เป็นต้น
  6. ไหล่ทวีป (continental shelf) หมายถึง พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต และในบางกรณี ไหล่ทวีปสามารถขยายได้จนถึง 350 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน
  7. ในบริเวณไหล่ทวีป รัฐชายฝั่งสามารถใช้สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบน ไหล่ทวีป
  8. ทะเลหลวง (high seas) หมายถึง ทะเลที่ไม่ใช่น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใด ทั้งนี้ ในทะเลหลวง รัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิล และท่อใต้ทะเล รวมทั้งเสรีภาพในการทำประมง เสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น


    ชมสื่อ Multimedia เรื่องเขตทางทะเล ที่นี่

    อนึ่ง อนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้ทรัพยากรแร่ทั้งปวงที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว และแก๊สบริเวณ ใต้พื้นดินท้องทะเล รวมทั้งก้อนแร่โลหะสารพัดชนิดที่อยู่ในบริเวณนอกเหนืออำนาจรัฐใดๆ นี้ หรือบริเวณที่อนุสัญญาฯ กำหนดให้มีชื่อว่า "บริเวณพื้นที่" (The Area) เป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ (common heritage of mankind) ซึ่งรัฐไม่อาจอ้างหรือใช้อธิปไตยเหนือส่วนใดส่วนหนึ่งของบริเวณพื้นที่นี้ได้ โดยอนุสัญญาฯ ได้จัดตั้งองค์การพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Seabed Authority (ISA) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรแร่ในบริเวณดังกล่าว

การคุ้มครองและการรักษาสิ่งแวดล้อม

รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในการนี้ รัฐใช้มาตรการทั้งปวงซึ่งจำเป็นเพื่อป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อมทางทะเล ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด รวมทั้งให้รัฐใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อประกันว่า กิจกรรมภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของตนจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจากภาวะมลพิษแก่รัฐอื่น

การระงับข้อพิพาท

อนุสัญญาฯ กำหนดกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีเกี่ยวกับการใช้และการตีความอนุสัญญาฯ

 

นอกจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ยังมีอนุสัญญาอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทะเล การเดินเรือ สิ่งแวดล้อมทางทะเล ฯลฯ 

อนุสัญญาภายใต้องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ความปลอดภัยทางทะเล มลพิษทางทะเล ความรับผิดและการชดเชยค่าเสียหาย เช่น

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ (The International Convention for the Prevention of Pollution from Ships 1973, as modified by the Protocol 1978 - MARPOL 73/78)

อนุสัญญาฯ มุ่งเน้นการป้องกันมลพิษทางทะเลที่เกิดจากเรือทั้งที่เกิดจากการเดินเรือเเละจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือ (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550)

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1972 (The International Convention for the Safety of Life at Sea 1974: SOLAS 1974)

อนุสัญญาฯ กำหนดมาตรฐานโครงสร้างอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในเรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิต อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้เพียงพอต่อลูกเรือเเละผู้โดยสารทุกคน รวมถึงการฝึกอบรมชาวเรือให้มีความรู้ความสามารถในการดำรงชีพในทะเล หากเกิดกรณีเรืออับปาง อุปกรณ์ที่ใช้งานบนเรือและการปฏิบัติการของเรือ เพื่อให้มุ่งเน้นความปลอดภัยเเก่ "ลูกเรือ" กำกับดูเเลเพียงเรือพาณิชย์เเละเรือพลเรือนเท่านั้น (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2527)

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (The International Convention on Load Lines 1966)

อนุสัญญากำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับข้อจำกัดในการบรรทุกของเรือซึ่งเดินระหว่างประเทศให้เป็นมาตราฐานเดียวกันเพื่อให้เกิดความคุ้มครองชีวิตเเละทรัพย์สินในทะเลอย่างสูงสุด (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535)

 

กฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล ค.ศ. 1972 (The International Regulations for Preventing Collision at Sea 1972: COLREG)

เพื่อให้มีกฎข้อบังคับสากลว่าด้วยการเดินเรือเข้าใกล้กันหรือในขณะที่ทัศนวิสัยไม่ดี ตลอดจนวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสัญญาณ แสง เสียงและเครื่องหมายสัญญาณรูปทรงต่าง ๆ เพื่อป้องกันการโดนกันของเรือ (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522)

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามของ คนประจำเรือ ค.ศ. 1978 (The International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 1978: STCW)

อนุสัญญาฯ กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในเรือของคนประจำเรือ ตลอดจนคุณสมบัติขั้นต่ำของคนประจำเรือ และมาตรฐานในการฝึกอบรมและการออกประกาศนียบัตรให้เหมาะสมและเกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินในการเดินเรือ (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2540)

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 (The International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage หรือ CLC Protocol 1992)

เพื่อกําหนดค่าชดเชยให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากน้ำมันรั่วไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุทางทะเลของเรือขนส่งน้ำมัน โดยกําหนดความรับผิดทางแพ่งกับเจ้าของเรือที่ทําให้เกิดมลภาวะจากน้ำมันรั่วไหลลงทะเล (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2550)

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเตรียมการปฏิบัติการและความร่วมมือในการป้องกันและขจัดมลพิษ จากน้ำมัน ค.ศ. 1990 (The International Convention on Oil Pollution Preparedness Response and Cooperation 1990: OPRC)

เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการเตรียมความพร้อมในการขจัดคราบน้ำมันและมลพิษที่เกิดจากคราบน้ำมัน (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543) 

ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก

 

อนุสัญญาและตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในทะเล เช่น

 

ความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ และจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดข้ามเขตและอพยพ ย้ายถิ่นไกล ค.ศ. 1995 (The Agreement for the Implementation of the Provisions of the UNCLOS relating to the Conservation and Management of Straddling Fish Stocks and Highly Migratory Fish Stocks)

ความตกลงฯ ให้ความสำคัญต่อการร่วมกันจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำประเภทที่ย้ายถิ่นและการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างนานาประเทศและองค์กรจัดการประมงทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค (ไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560)

 

อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (Convention on Fishing and Conservation of Living Resources of the High Seas)

อนุสัญญาฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นานาประเทศร่วมมือกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ทรัพยากรมีชีวิตบางชนิดตกอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากถูกใช้ประโยชน์อย่างเกินขอบเขตในทะเลหลวง (ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2511)

 

ประเด็นใหม่เกี่ยวกับกฎหมายทะเล

สหประชาชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างตราสารระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายใต้อนุสัญญาฯ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (biological diversity of areas beyond national jurisdiction - BBNJ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตที่อยู่ในบริเวณพื้นที่นอกเหนือเขตอำนาจรัฐ เนื่องจากอนุสัญญาฯ ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ สหประชาชาติได้จัดการประชุมระดับรัฐบาลเพื่อเจรจาจัดทำร่างตราสารฯ มาแล้ว 3 ครั้ง และมีกำหนดจัดการประชุมครั้งต่อไปในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563

 

กฎหมายภายในและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น

 

  • กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560
  • กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล เช่น พ.ร.บ. เพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ทางน้ำ พ.ศ. 2496 และ พ.ร.บ. การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562
  • กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายและการฟื้นฟูทะเลไทย พ.ศ. 2539 พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561
  • กฎหมายพาณิชยนาวี เช่น พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 พ.ร.บ. เรือไทย พ.ศ. 2481 พ.ร.บ. ป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. กักเรือ พ.ศ. 2534

บทความกฎหมายทะเลที่น่าสนใจ

  • คำพิพากษาคดีการแบ่งเขตทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียระหว่างโซมาเลียกับเคนยา  (Maritime Delimitation in the Indian Ocean (Somalia v. Kenya) 

เอกสารประกอบ

คำพิพากษาคดีการแบ่งเขตทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียระหว่างโซมาเลียกับเคนยา_Maritime_Delimitation_in_the_Indian_Ocean.pdf