กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ธ.ค. 2565

| 3,585 view

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือ Law of Armed Conflict หรือ Law of War) คือกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับวิธีการทำสงครามและการปฏิบัติต่อพลรบและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรมในระหว่างการทำสงคราม (Jus in bello) โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 5 หลัก ได้แก่

  1. หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Principle of Distinction)
  2. หลักการความได้สัดส่วน (Proportionality)
  3. หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (Precuation)
  4. หลักความจำเป็นทางทหาร (Military Necessity)
  5. หลักมนุษยธรรม (Humanity)

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่

  1. อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention for the Amelioration of the Condition of the Wounded and Sick in Armed Forces in the Field of 12 August 1949)
  2. อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรืออับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention for the Amelioration of the Condition of the Wounded, Sick and Shipwrecked Members of Armed Forces at Sea of 12 August 1949)
  3. อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention Relative to the Treatment of Prisoners of War of 12 August 1949)
  4. อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention Relative to the Protection of Civilian Persons in Time of War of 12 August 1949) โดยมีพระราชบัญญัติบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2498 และพระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499 เป็นกฎหมายอนุวัติการ

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้มีการออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม ซึ่งแม้ว่าแต่เดิมไทยเคยมีพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งบัญญัติฐานความผิดสำหรับผู้กระทำความผิดที่ละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศในการทำสงคราม แต่ปัจจุบันได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2510 แล้ว

* * * * *