การประชุม OECD 6th Annual Investment Treaty Conference

การประชุม OECD 6th Annual Investment Treaty Conference

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ส.ค. 2566

| 524 view

 นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองของไทยเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ ในการประชุม Annual Investment Treaty Conference ครั้งที่ 6 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
             นางวิลาวรรณฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการกับความท้าทายของการทำความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศในบริบทปัจจุบัน ได้แก่ (1) เนื้อหาของความตกลงฯ ที่จัดทำขึ้นในอดีต ซึ่งมักมีลักษณะกว้าง ๆ จึงเปิดช่องว่างในการตีความที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องโดยง่าย อีกทั้งที่ผ่านมามีการจัดทำความตกลงฯ ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ซึ่งทำให้เกิดความทับซ้อนของพันธกรณีระหว่างความตกลงฯ หลายฉบับ (2) ประเด็นร่วมสมัยที่รัฐจำเป็นต้องกำกับดูแลควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการเคารพสิทธิแรงงาน เป็นต้น และ (3) ความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของรัฐในการดำเนินนโยบาย (right to regulate) ไม่ว่าจะเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ ซึ่งควรเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ดีและเป็นสากล และการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศผู้รับการลงทุนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการใช้โอกาสจากการจัดทำความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน เป็นช่องทางหนึ่งในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวด้วย

1.1_OECD_6th_Annual_Conference_on_Investment_Treaties

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) เป็นองค์การความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2505 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นองค์กรที่เปรียบเสมือน “think tank” ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และคลังข้อมูลหลากหลาย โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ไทยได้ดำเนินความร่วมมือกับ OECD ภายใต้โครงการ Country Programme ซึ่งทำให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิรูปแนวนโยบายภาครัฐและกฎระเบียบภายในของไทยให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปสืบค้นรายงาน OECD Investment Policy Reviews ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการภายใต้โครงการ Country Programme 

***********